จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้น - บทความสำหรับมือใหม่ทุกคนครับ








เริ่มแรก พืช หรือ ต้นไม้ มันคืออะไร พ่อมันชื่ออะไร ไปดูก่อนเลยครับ Wikipedia - พืช

จากนั้นมาดูการบริโภคของพืชที่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ก็คือการสังเคราะห์แสง Wikipedia - การสังเคราะห์ด้วยแสง

ทีนี้เราก็พอจะรู้เบสิคของพืชแล้วนะครับ ว่ามันต้องการอะไรบ้าง แต่ว่า เราจะปลูกไม้น้ำใช่ไหมครับ ไม่ใช่ต้นตะเคียน ไม่ใช่ผักคะน้า

ถ้าอย่างนั้น ไม้น้ำต้องการอะไรบ้าง? เรามาดูปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการกันก่อน


  • วัสดุปลูกที่เหมาะสม
  • ปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการ ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ปริมาณแสงสว่างที่พอเพียง ในระยะเวลาราว 8-12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง
  • สภาพน้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ
  • ปริมาณ Co2 และ O2 ที่เพียงพอ

เห็น มั้ยครับ คล้ายไม้บกมากๆ แค่มันกระแดะไปอยู่ในน้ำแค่นั้นเอง ดังนั้นการปลูกไม้น้ำก็จะไม่ต่างจากไม้บกมากนัก ก็เตรียมที่ ลงดิน เอาต้นมันมา ฝังลงไป รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย นั่งเกาไข่รอดูมันโต โตมากไปก็ตัดแต่ง เย่!! เสร็จแล้ว การเลี้ยงไม้น้ำมันก็เหมือนการจัดสวนในตู้ปลาน่ะแหละครับ แต่ไม้น้ำไม่ต้องรดน้ำครับ (แหงล่ะ) พรวนดินก็ไม่ต้องครับ เพราะเราจะดูมันสวยๆ ไปพรวนดินขึ้นมาเดี๋ยวน้ำขุ่น ไม่ต้องมองกันล่ะ

ทีนี้เรามาดูรายละเอียดกัน ว่าไอ้ปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการเนี่ย เราจะจัดให้มันได้ยังไง แบบไหนถึงจะถูกใจป๋า





ก็ ต้องเป็นดินแหงอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถเอาดินในสวนมามี๊ใส่ลงไปในตู้ปลาได้เลย เพราะขืนทำแบบนั้น น้ำก็ขุ่นเป็นโคลนกันพอดี ถ้าจะใช้ดินต้องเป็นดินที่ทำมาสำหรับตู้ไม้น้ำเท่านั้น ในตลาดจะเรียกกันว่า "ดินภูเขาไฟ" ลักษณะจะเป็นเม็ดดินเล็กๆ เหมือนกรวด ไม่ละลายน้ำ แตกตัวยาก ทำให้การเลี้ยงไม้น้ำง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ คุณสมบัติเหมาะกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ

แต่ ไม่แนะนำ ทำไมหรือครับ มันแพงครับ ค่าดินสำหรับตู้ 24" ก็ต้องใช้เงินราวๆ 1000 บาท (แต่ถ้าตังค์เหลืออยากวัดก็เอาเลยครับ แค่เตือนไว้กลัวจะเสียตังค์ฟรีจนฝ่อเลิกเลี้ยงไปซะเท่านั้นแหละ) ในช่วงแรกของการเลี้ยง จะมีเหตุที่ทำให้คุณจะสูญเสียดินนั้นไปเป็นจำนวนมาก หรือทั้งหมดอยู่มากมายเลยครับ เช่น ใส่ปุ๋ยเยอะเกินไป จัดพื้นปลูกไม่ดี มีชั้นดำ เน่า  ตะไคร่เกาะ โดนดูดหลุดออกมาตอนเปลี่ยนน้ำ ปักต้นไม้ใหม่บ่อยๆจนดินแตก ล้างไม่ถูกวิธี(กรณีตู้ซิ่ว(ตั้งตู้รอบสอง)รอบแรกไม่ต้องล้างครับ) ดินปนกับหินพัมมิส หรือหินอื่นๆ จนแยกไม่ออก โอย....เยอะครับ ดินภูเขาไฟนั้นมีข้อจำกัดในการใช้ ต้องใช้ให้ถูกวิธี ถึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ คุ้มกับเงินที่ลงทุนไปนะครับ ห้ามไว้ตอนแรกเท่านั้นแหละ เดี๋ยวพอคล่องๆหน่อย ดูแลถูกวิธีก็สบายแล้ว

ถ้า เป็นครั้งแรกที่เลี้ยงไม้น้ำ ผมแนะนำกรวดแม่น้ำก่อนครับ กรวดแม่น้ำ โลละ 10-20 บาท ซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป เอาที่สีสันไม่ถึงกับแสบตูด (เพราะส่วนใหญ่จะย้อมสีมา) แล้วก็มนๆ ไม่มีคมมากนัก ขนาดประมาณ 2-3 มม. เราก็เอากรวดเนี่ยครับ ใส่รองพื้นไว้ในตู้ปลา ให้หนาสัก 2-3 นิ้ว แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วครับ ทำไมถึงใช้กรวด เพราะกรวดไม่ละลายน้ำเหมือนดิน และมีน้ำหนักพอที่จะยึดต้นไม้ที่เราปักไว้ได้ ไม่ให้มันหลุด แถมยังราคาถูก หาได้ง่าย ก็เลยเป็นวัสดุรองพื้นที่เป็นที่เหมาะกับผู้เริ่มต้นที่สุดครับ

กรวดที่แนะนำก็คือกรวดแม่น้ำโขง กับ กรวดแก้วครับ เพราะรูปร่างกลมมน สีสันเป็นธรรมชาติ

แยกไปดูเรื่องกรวดแบบละเอียดได้ทางนี้เลยครับ แนะนำกรวดรองพื้นแบบต่างๆ



กรวด สีๆแบบนี้ ไม่ควรใช้นะครับ นานๆไปสีมันจะหลุดออกมา เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ (บางทีใช้สีห่วยๆนี่อันตรายตั้งแต่แรกเลย ใส่อะไรไปตายหมด)

อ่านเรื่องวัสดุปลูกได้ที่นี่ครับ
วัสดุปลูกในตู้พรรณไม้น้ำ / คุณ banx

พ102 วัสดุปลูก





เหมือน คนต้องกินข้าวครับ ถ้าไม่มีการให้ปุ๋ย ต้นไม้ก็ไม่โต ถ้าเรารองพื้นตู้ด้วยกรวด ต้นไม้ก็ไม่รู้จะเอาปุ๋ยจากไหนไปใช้ เพราะในกรวดมันไม่มีปุ๋ย ไม่มีแร่ธาตุอะไร ง่ายๆครับ ก็ใส่

ให้มันเลย มีทั้งแบบน้ำ แบบเม็ดฝังดิน แบบรองพื้นก่อนปลูก เรื่องปุ๋ยนี่ ต้องใช้ปุ๋ยอะไรบ้าง มีกี่แบบ อ่านได้ที่นี่ครับ
ต้นไม้น้ำกับการให้สารอาหาร / All Fish
ทำไมต้องมีทั้งแบบน้ำ , แบบรองพื้น และ แบบเม็ด ? / All Fish

ปุ๋ย บัว และปุ๋ยไม้บกอื่นๆ เช่น ออสโมโค้ท ยูทิไลซ์ สามารถใช้ได้ครับ ไม้น้ำเจริญเติบโตได้ในระดับหนึ่ง ถึงจะไม่ดีเท่าปุ๋ยไม้น้ำโดยตรง แต่ได้เปรียบตรงราคาถูก และหาได้ตามต่างจังหวัด และต้องขอเตือนไว้ตรงนี้เลยด้วยว่า ใน การใช้ ยังไม่มีใครสรุปปริมาณและอัตราส่วนได้แน่นอนนะครับ ต้องมั่วเอาเองครับ อาจจะทำให้ปลาตาย ตะไคร่ขึ้น น้ำเสียกันได้นะครับ การมั่วมีความเสี่ยง ผู้เลี้ยงควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจครับ

เท่า นี้ การเตรียมความรู้เบื้องต้นในส่วนของพื้นปลูกก็เรียบร้อยแล้วครับ ต้นไม้ของเราก็มีที่ให้หยั่งรากลงดิน แตกกิ่งแตกใบแล้วครับ นอกจากพื้นที่ให้หยั่งราก ยึดลำต้น และสารอาหารแล้ว ต้นไม้ยังต้องการอะไรอีก





แสง ไงครับ ต้นไม้น้ำต้องการแสงสว่างระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการสังเคาระห์แสง เปลี่ยนแร่ธาตุ ปุ๋ย และสารอาหารต่างๆให้เป็นพลังงานในการเจริญเติบโตครับ แต่ละชนิดต้องการไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง แล้วจะรู้ได้ไงว่า ต้นไม้ชนิดไหนต้องการปริมาณแสงแค่ไหน เราก็ถามจากคนขาย หรือถามจากเพื่อนๆในบอร์ดก็ได้ครับ เพราะชนิดมันมีเยอะเหลือเกิน ผมแนะนำมาให้เป็นบางส่วนเท่านั้น ก่อนซื้อก็หาข้อมูลให้ดีก่อนครับ ว่าไม้ที่เราจะเลี้ยงมีความต้องการปัจจัยต่างๆยังไงบ้าง

จะดูยังไง วัดยังไงว่า แค่ไหนคือแสงมาก แค่ไหนคือแสงน้อย ถ้าให้ถูกต้องจริงๆต้องวัดด้วยค่า lux แต่เครื่องวัดมันแพง และยุ่งยากสำหรับมือใหม่เกินไป ไม่ต้องสนใจ ถ้าจะวัดแบบง่ายๆก็ดูที่จำนวนวัตต์รวมของหลอดไฟทั้งหมดที่เราใช้ ต่อปริมาณน้ำครับ

เช่น เรามีหลอดไฟขนาด 18 w จำนวน 3 หลอด ตู้ขนาด ยาว 24 นิ้ว กว้าง 12 นิ้ว สูง 12 นิ้ว คำนวณปริมาตรน้ำออกมาได้ 56.63 ลิตร (สามารถใช้ตัวช่วยคำนวณนี้เพื่อคำนวณปริมาตรน้ำได้เลยครับ ใส่ขนาดตู้ลงไปแล้วกดคำนวณก็ออกมาแล้วครับ ขนาดตู้ให้หักความหนาของชั้นกรวดออกด้วยก็ดีครับ จะได้ปริมาตรน้ำที่แน่นอนกว่า ....เพราะเราจะเอาปริมาตรน้ำ ...ไม่ใช่กรวดนี่นะ)

คิดได้แล้วก็ต่อกันเลย ไฟ 18x3 หลอด เท่ากับตู้คุณมีไฟ 54 วัตต์ จับ 54 หารด้วย 56.63 ได้ 0.95 นั่นคือตู้คุณมีไฟ 0.95 วัตต์ต่อลิตร

แล้วตู้เราแสงมากหรือน้อยล่ะ? ก็เอาผลลัพท์มาเทียบกับข้างล่างนี้ครับ

  • 0.2-0.5 วัตต์ (watts)(ใช้ตัวย่อ W) ต่อปริมาณน้ำ 1 ลิตร สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงน้อย เช่น มอสชนิดต่างๆ (Vesicularia dubyana) ไม้ตระกูลคริป (Cryptocoryne) และตระกูลอนูเบียส
  • 0.5-0.65 w  ต่อลิตร สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง เช่น หญ้าซาจิ (Sagittaria) และไม้ตระกูลอเมซอน (Echinodorus)
  • 0.65-0.8 w ต่อลิตร สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง-มาก เช่นพวก ชบาน้ำ (Aponogeton) ลานไพลิน (bacopa) หญ้าหัวไม้ขีด (Eleocharis)
  • 0.8 w   ต่อลิตร ขึ้นไป สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงมาก เช่น สาหร่ายคาบอมบ้า (Cabomba) ตระกูลสาหร่าย และไม้ข้อ เกือบทุกชนิด จอก แหน

แสดง ว่าตู้ติ๊ต่างของเรานี้ มีปริมาณแสงมากกกก ก็จะสามารถเลี้ยงไม้ที่ต้องการแสงมากได้ แต่ก็ต้องระวัง ปริมาณแสงที่มากเกินไปจะทำให้เกิดตะไคร่ได้ง่ายกว่านะจ๊ะ

การเปรียบ เทียบข้างบนนี้ อ้างอิงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แท่งยาวๆ แบบที่เราใช้ตามบ้านนะครับ ถ้าเป็นหลอดชนิดอื่น ก็จะแตกต่างออกไปบ้าง แต่ก็พอมั่วๆถั่วๆไปกันได้  ถ้าต้องการ ดูเพิ่มเติมเรื่องแสงในตู้พรรณไม้น้ำได้ที่นี่ครับ
ระบบแสงส่องสว่างในตู้ไม้น้ำ / All Fish
บางประการกับแสงในตู้พรรณไม้น้ำ / All Fish
แหล่งกำเนิดแสงสำหรับตู้ไม้น้ำ / คุณ banx





สำหรับ มือใหม่ ยังไม่ต้องสนใจเรื่องน้ำมากก็ได้ เพราะต้นไม้บ้านๆ ทั่วๆไป พอทละ 10-40 บาท ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เรื่องมากอะไรกับค่าต่างๆในน้ำมากนัก ช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งไปมองพวกที่เลี้ยงยากๆแล้วกัน ช่วงแรกนี่ห่วงปลาม่องจะดีกว่า คอยดูแลหน่อยในช่วงแรกๆ น้ำที่เปลี่ยนอย่าให้มีคลอรีน ห้ามใช้น้ำบาดาล หรือน้ำกร่อย อุณหภูมิน้ำระหว่าง 20-30 ค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ PH 6.5-7.2 แอมโมเนีย ไนไตร์ท เป็น 0 หรือใกล้เคียง (สามารถวัดได้ด้วยชุดวัดค่าต่างๆเหล่านั้น หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป) ให้ค่ามันใกล้เคียงก็เป็นใช้ได้ เรื่องน้ำ และการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
คุณสมบัติของน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลา / All Fish





ทุก คนคงเคยเรียนมาสมัยประถมแล้ว ในวิชาเกษตร ต้นไม้ใช้ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงในเวลากลางวัน และใช้ก๊าซออกซิเจนในการหายใจในเวลากลางคืน โดยใช้แร่ธาตุ N P K เป็นแหล่งพลังงานในการสังเคราะห์แสง

ภายในตู้เลี้ยงไม้น้ำแบบเต็ม ระบบ (หมายถึงลงต้นไม้น้ำเต็มๆตู้ เน้นไม้น้ำเป็นหลัก) ถ้าไม่มีเพิ่มให้ ปริมาณ CO2 ที่ได้จากการหายใจของปลา และพสัตว์น้ำ จะไม่เพียงพอ เหมือนคนเยอะๆ อัดกันอยู่ในห้องๆนึง แคบๆ มันก็หายใจไม่ออก ต้นไม้ที่ต้องการใช้ CO2 ถ้ามาอัดกันแน่นๆตู้ (ถ้าไม่แน่นมันก็มักจะไม่ค่อยสวย นานๆทีจะเจอตู้ไม้น้ำโหรงเหรงแล้วสวยๆซักตู้นึง) มันก็หายใจไม่ออก เราจึงต้องเพิ่ม CO2 ให้ต้นไม้ครับ ถ้าไม่มีให้ ส่วนใหญ่ต้นไม้จะโตช้า ตะไคร่ก็มาง่าย (เพราะต้นไม้โตไม่ทันตะไคร่) แล้วต้นไม้ก็จะสวยไม่เต็มที่ด้วยครับ

การวัดปริมาณการใส่ CO2 ลงในตู้ ปกติจะใช้การนับจำนวนฟองต่อวินาที ด้วยตัวนับฟอง ที่มีน้ำอยู่ภายใน ให้ก๊าซไหลผุดขึ้นมาทีละฟองเพื่อนับปริมาณต่อวินาที หรือตัวละลายบางชนิดอาจจะมีตรงนี้ให้นับได้อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใช้ตัวนับฟองก็ได้ ปกติมาตรฐานถ้าปิดตอนกลางคืน จะเปิด 3-4 ฟองต่อวินาที ถ้าเปิด 24 ชั่วโมง จะเปิด 1-2 ฟองต่อวินาที

CO2 ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะมีอยู่ 3 แบบ

1. แบบถัง เป็นถังเหล็ก ภายในอัดก๊าซ CO2 เอาไว้เวลาหมดต้องเอาไปเติม หรือเอาไปเปลี่ยนถังใหม่มา เหมือนก๊าซหุงต้มที่เราใช้ตามบ้าน (แต่ถังคนละแบบกันนะครับ ใช้ร่วมกันไม่ได้)
โดยจะต้องติดวาล์วควบคุมการ ไหลของก๊าซที่หัวถัง เรียกว่าเรกกูเลเตอร์ (Regulator) แบบถังนี่จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะได้ก๊าซ CO2 เต็มที่ เพียวๆ ใช้กับตู้ใหญ่ขนาดไหนก็ได้ แต่ลงทุนซื้อถังครั้งแรกแพง ประมาณ 3000 (ราคานี้มีถังขนาด 3 กิโล หัวเรกกูเลเตอร์ วาล์วปรับละเอียด อาจจะมีให้ตัวละลายด้วย) ก๊าซสามารถเปลี่ยนหรือเติมได้ที่ร้านที่เราซื้อมา หรือถ้าแถวบ้านมีร้านขาย/เติมถังออกซิเจน แล้วมาจตุจักรลำบาก อาจจะซื้อถังและเติมที่ร้านแถวบ้านก็ได้ ร้านพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีถัง CO2 ให้ด้วยอยู่แล้ว ถัง 3 kg. เติมครั้งละ 50-150 บาท แล้วแต่ร้าน

ตัวอย่างถัง CO2 พร้อมเรกกูเลเตอร์ และโซลินอยด์วาล์ว อันนี้เป็นถังอลูมิเนียม ราคาแพงกว่าถังเหล็ก แต่เบากว่าและไม่เป็นสนิม


ชุดถูกสุดประมาณ 3000 จะได้ถังเหล็กแบบนี้ (รูปโดยคุณ house)


รายละเอียดของเรกกูเลเตอร์ และโซลินอยด์วาล์ว ชุดนี้จะต่ออยู่ที่หัวถังอีกที เอาไว้ควบคุมปริมาณการไหลของก๊าซ

โซลินอยด์วาล์วมีไว้เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด CO2 แบบอัตโนมัติตามเวลา ไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป เปิดก๊าซน้อยๆทั้งวันทั้งคืนแทนก็ได้


2. แบบยีสต์ เป็นการหมักน้ำตาลกับยีสต์ พอยีสต์กินน้ำตาล ก็จะขี้ออกมาเป็น CO2 เราก็ต่อสายไปลงตู้ ทำครั้งนึงใช้ได้ประมาณ 20-30 วัน ราคาถูกมาก แค่ค่าน้ำตาล 2 ถ้วย ไม่ถึง 10 บาท (น้ำตาลครึ่งโล 10 กว่าบาท) กับยีสต์ อย่างดีๆเลยก็ห่อละ 300 ใช้ไปยันลูกยันหลาน เพราะใช้แค่ครั้งละ 1/2-1ช้อนชา มีข้อเสียคืออาจจะผลิตปริมาณก๊าซได้ไม่พอกับตู้ใหญ่กว่า 36 นิ้ว จริงๆแล้วก็ใช้ได้ แต่ต้องทำหลายชุด ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแพง

3. แบบไฟฟ้า เป็นการใช้ไฟฟ้าไปทำปฏิกริยากับสารอะไรซักอย่าง แล้วให้ CO2 ออกมา ราคาเครื่องประมาณ 1000 กว่าบาท แต่ค่าแท่งสารที่ต้องเปลี่ยนประมาณ 6 เดือน- 1 ปี ราคาเกือบพัน ว่ากันว่าปริมาณ CO2 ที่ผลิตได้ยังน้อยอยู่ ใช้แล้วสู้แบบถังไม่ได้ ตัวนี้ผมยังไม่เคยมีโอกาสใช้ ก็เลยฟันธงไม่ได้นะขรับ แต่เทียบกับราคาแล้ว ใช้แบบถังคุ้มกว่าและดีกว่าแน่ครับ ตัวเลือกนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่ในเขตที่หาเติมหรือเปลี่ยนถัง CO2 ไม่ได้จริงๆ เช่นต่างจังหวัดไกลๆ

ราคาแบบไฟฟ้าโดยประมาณ
ของยี่ห้อ Nisso co2 maker
120 ลิตร 1800 บาท
260 ลิตร 2200 บาท
475 ลิตร 2600 บาท

หลักการทำงานของ CO2 แบบไฟฟ้า



ดูเพื่อนๆเขาคุยกันเรื่อง CO2 ไฟฟ้า คลิกที่นี่ และที่นี่

หน้าตาของเค้า ในรูปนี่ของ Nisso





ยังไงลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันก่อนแล้วกัน

มารู้จักถังคาร์บอนกันให้ดีขึ้น / คุณ banx
CO2 จากยีสต์ / คุณ banx
ระบบกระจาย CO2 สำหรับตู้ไม้น้ำ / คุณ banx
CO2 สูตรวุ้น / mrnutty
Yeast CO2 สูตรโปรตีน / บัง
มาต่อโซลินอยด์กับหัวเรกฯกันดีกว่า (ในงบฯ 700 บาท) / MaTTieW

และอีกมากมายใน มุมอุปกรณ์

ตารางเปรียบเทียบคร่าวๆครับ



ที่มา http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=1413.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น